◎ตำนานการสร้างปืนพระรามหกที่ใช้ล้างอาถรรพ์คงกระพันเสือร้ายทั่วแดนสยาม◎

ตำนานการสร้างปืนพระรามหกที่ใช้ล้างอาถรรพ์คงกระพันเสือร้ายทั่วแดนสยาม

ปืนพระราม 6 เป็นอาวุธปืนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสั่งเข้ามาใช้ในกิจการเสือป่า ซึ่งเป็นองค์กรที่พระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2454 โดยมีพระราชปรารภในการจัดตั้งองค์กรนี้ว่า เพื่อจะให้พลเรือนทั้งที่เป็นข้าราชการและไม่ได้เป็นข้าราชการทหารได้มีโอกาสฝึกหัดระเบียบวินัย มีการบังคับบัญชาเป็นหมู่เหล่า ทั้งยังฝึกให้จงรักภักดียอมสละชีวิต เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่จะมีแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงจัดตั้งองค์กรเสือป่าขึ้นในรูปของกองอาสาสมัครโดยใช้ชื่อว่า "กองเสือป่า" ซึ่งนำมาจากชื่อเรียกผู้สอดแนมในการสงครามของไทยที่มีมาแต่โบราณ

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษ โดยทรงสำเร็จวิชาทหารจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ (Sandhurst Royal Military Academy) ต่อมาได้ทรงศึกษาหลักสูตรปืนเล็ก และทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นนายทหารสังกัดในกรมทหารราบเบาเดอรัมรักษาพระองค์ (Durham Light Infantry Regiment) ก่อนที่จะเสด็จนิวัตประเทศไทย จึงทรงมีความรู้ทางด้านการทหารเป็นอย่างดี จนนำมาสู่การจัดตั้งองค์กรเสือป่าขึ้นซึ่งเป็นกองกำลังฝ่ายพลเรือน

โดยตลอดระยะเวลา 15 ปี แห่งการครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศพระองค์ให้กับกิจการเสือป่ามาโดยตลอด ทรงทุ่มเททั้งกำลังพระวรกายกำลังพระสติปัญญาและพระราชทรัพย์ให้กับเสือป่าอย่างเต็มที่

ปืนพระราม 6 จัดแยกอยู่ในคลังเก็บอาวุธของกองเสือป่าต่างๆดังนี้..

- ยู่ในคลังเก็บอาวุธสวนจิตรลดา 5,945 กระบอก

- อยู่ที่กองเสนากรุงเทพ ฯ 500 กระบอก

- อยู่ที่กองเสนาตะวันตก 500 กระบอก

- อยู่ที่กองเสนาปักษ์ใต้ 700 กระบอก

- อยู่ที่กองเสนาภูเก็ต 300 กระบอก

- อยู่ที่กองเสนาอยุธยา 100 กระบอก

- อยู่ที่กองเสนาตะวันออก 460 กระบอก

- อยู่ที่กองเสนาอาคเนย์ 500 กระบอก

- อยู่ที่กองเสนาอุบล 300 กระบอก

- อยู่ที่กองเสนาอิสลาม 250 กระบอก

รวมมีทั้งหมด 10,000 กระบอก ปัจจุบันมีผู้ที่มีปืนพระรามหกไว้ครอบครองนั้นเหลืออยู่ไม่มากเนื่องจากชำรุดสูญหายไปตามการเวลา

อย่างไรก็ดีกองเสือป่ามิได้ใช้ปืนชนิดนี้ตั้งแต่แรกเพราะได้มีการสั่งซื้อปืนพระราม 6 ในปี 2463 หรือหลังจากตั้งกองเสือป่าแล้วถึง 9 ปี ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าก่อนหน้านี้ใช้ปืนชนิดอะไรในการซ้อมรบ ขณะนั้น บริษัท บีเอสเอ (BSA - Birmingham Small Arms Co.) เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ผลิตปืนลีเอนฟิล์ด ทั้งนี้เพราะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงแห่งสันติภาพทุกชาติเข็ดต่อการสูญเสียในสงคราม มีการลดอาวุธปิดโรงงานผลิตปืนต่างๆลงเป็นอันมาก และเป็นเช่นนี้จนถึงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อังกฤษไม่ค่อยพร้อมรบนักในเวลาต่อมา

ความในโทรเลขถึงโรงงานบีเอสเอ ในการสั่งซื้อปืนพระราม 6 พอจะสรุปได้ดังนี้ ..

- [12 ม.ค. 2463] : ได้รับคำสั่งซื้อจากสยาม ปืนลีเอ็นฟิล์ดสั้น (SMLE) พร้อมดาบปลายปืนและสายสะพาย ในราคา 76,625 ปอนด์ และกระทรวงการต่างประเทศ( อังกฤษ ) ไม่ขัดข้อง

- [12 ก.พ. 2463] : บริษัทได้ใบอนุญาติส่งออก และขอให้ผู้ซื้อทำการส่งชำระเงินงวดแรก 1/3 ของราคา ส่วนที่เหลือชำระเมื่อส่งมอบปืนครบแล้ว

- [11 มิ.ย. 2463] : พระองค์เจ้าอาภากร ได้มาเยี่ยมชมการผลิต และตรวจปืนรุ่นแรกที่จะส่งทางเรือ (ปืนหมายเลข1 ได้ถูกมอบให้พร้อมกันนี้ )

- [10 ธ.ค. 2463] : บริษัทส่งมอบครบทั้ง 10,000 กระบอก และขอเจรจาเพื่อเสนอขายเพิ่ม

โดยปืนพระราม 6 ทั้งหมดเป็นปืนรุ่น SMLE ที่ดัดแปลงให้มีชิ้นส่วนน้อยลงและง่ายประหยัดในการผลิตช่วงสงคราม ซึ่งสัญลักษณ์ของกองทัพอังกฤษจะ ใช้ดาว (*) ต่อท้าย ทราบโดยทั่วไปว่า SMLE No.1 Mk 3*(Star)

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ปืนพระราม 6 ต่างจากปืนที่ผลิตก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตรงที่ไม่มีอุปกรณ์ 2 ชนิด "ชนิดแรก" คือ ศูนย์พิเศษสำหรับยิงวอลเล่ย์ระยะไกล ลักษณะเป็นจานมีก้านศูนย์หมุนลงได้อยู่บนด้านหน้าซ้ายของศูนย์หน้า ศูนย์วอลเล่ย์นี้เหมาะกับการรบกับทหารม้า หรือชาวพื้นเมืองในสมัยล่าอาณานิคมที่มักจะวิ่งประจันหน้ามาเป็นแถวหน้ากระดานทีละพันๆคน "อุปกรณ์ชนิดที่ 2" คือ ลิ้นกั้นกระสุนในแม็กกาซีนไม่ให้สปริงดันกระสุนป้อนเข้ารังเพลิง ทำให้ทหารราบยิงแล้วบรรจุด้วยมือทีละนัดสำหรับยิงแบบวอลเล่ย์ดังกล่าว ต่อเมื่อ ข้าศึกบุกมาถึงแนวรับจึงจะระดมยิงด้วยกระสุนในแม็กกาซีนทั้ง 10 นัด

ทั้งหมดนี้คือความเป็นมาของปืนพระราม 6 จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ปืน ลีเอ็นฟิล์ด แบบ SMLE No.1 Mk.3 เพียง 10,000 กระบอก ที่มีตราเสือป่า ผลิตให้แก่ประเทศในเอเชียที่ไม่เคยเสียเอกราชให้ชาติตะวันตกใด จะกลายเป็นของสะสมที่หายากถ้าจะเปรียบกับปืนชนิดเดียวกันนี้ที่ผลิตขึ้นหลายล้านกระบอก ปืนพระราม 6 จึงรู้จักในต่างประเทศว่า ปืน Wild Tiger เพราะทางราชการได้ขายทอดตลาดไปเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน และไม่ต้องสงสัยว่า ปืนพระราม 6 ที่ยังคงเหลืออยู่เป็นสมบัติของชาติอันน่าหวงแหนเพียงใด..

อนึ่ง ปืนพระราม 6 เป็นปืนลูกเลื่อนเหมือนปืน ร.ศ. แต่ในยุคนี้มีความพิเศษขึ้นมาเรื่องลูกกระสุนสมัยใหม่จะมีควันน้อย และหัวกระสุนแหลมๆแบบกระสุนปืนในสมัยปัจจุบันแล้ว มีเกร็ดที่ท่านผู้ใหญ่เล่าไว้ว่า เมื่อส่งปืนพระรามหกมาถึงเมืองไทย ก็มีการพิธีสวดและเจิมของพระเกจิอาจารย์ในยุคนั้นเป็นการใหญ่โต

เพื่อให้ปืนพระราม 6 สามารถต่อกรกันบรรดาผู้ร้ายที่เล่นของขลัง และหนังเหนียว ยิงไม่เข้า ที่เป็นปัญหาหนักอกของตำรวจไทยสมัยนั้น (เรื่องอย่างนี้ฝรั่งได้ยินคงเป็นงงแน่) แล้วมันก็ได้ผล เพราะปืนพระรามหกกลายเป็นปืนที่มีมีชื่อเสียงในเรื่องของการล้างอาถรรพ์ได้อย่างดี (แต่ถ้าเห็นลูกกระสุนปืนพระรามหก ขนาด .303 นิ้ว หัวแหลมๆ เทียบกับลูกปืนสเปนเซอร์ขนาด 0.44นิ้ว หัวมนๆแบบลูกปืนพก ก็คงเข้าใจเรื่องราวได้ไม่ยาก)

ถึงกระนั้นปืนพระรามหกก็เป็นแบบอย่างให้สยามจัดหาปืนที่ใช้ลูกกระสุนแบบนั้นมาเพิ่มเติมอีกใน พ.ศ.2466 เป็นปืนเมาเซอร์ในลิขสิทธ์ของญี่ปุ่นใช้กระสุน8ม.ม.หัวแหลม คือปืนอาริซากะ ในชื่อไทยๆว่าปืน ปลย.66

ปืนเล็กยาวแบบ 66 ไม่ทราบข้อมูลว่ามีกี่กระบอก และเป็นปืนที่หาข้อมูลได้น้อยมาก ทั้งๆที่มีบทบาทเป็นปืนที่ได้ใช้ในสงครามโลกครั้งที่สองตั้งหลายปี ทหารไทยนับหมื่นนับแสนคนต้องแบกมันเดินไปทั่วอินโดจีนราว พ.ศ.2483-2488

ที่สำคัญเรื่องมีอยู่ว่าทหารข้าศึกที่ได้ลิ้มรสกระสุนและดาบปลายปืน ของปืน ปลย.66ไทย คือทหารรับจ้างฝรั่งเศษหลายสัญชาติ รวมทั้งทหารเขมร และทหารเวียดนาม ใน "สงครามอินโดจีน" ยังมีทหารจีนเจียงไคเช็คใน "สงครามเชียงตุง" และที่สำคัญคือทหารญี่ปุ่นที่ดันดาหน้ายกบุกเข้ามาอย่างฮ้าวหาญเกินไปในวันที่8 ธันวาคม เลยต้องสังเวยคมกระสุนที่ญี่ปุ่นผลิตให้เองอย่างมากมาย ปืนเล็กยาวไทยมีอานุภาพสูงมากกว่าปืนเล็กยาวของญี่ปุ่นเอง แถมทหารไทยก็เป็นที่ร่ำลือในหมู่ทหารญี่ปุ่นว่าเป็นทหารผี ยิงถูกแล้วไม่ค่อยตาย แต่พอทหารญี่ปุ่นโดนปืนไทยเข้าบ้างเป็นกระจุย เรื่องราวอย่างนี้เคยเกิดขึ้นทางภาคใต้ของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2484

ความลึกลับของปืนนี้นั้นคือ ปลย.66 ไม่เพียงแต่จะหาข้อมูลยากว่ามันมีจำนวนเท่าใด แต่มันพาให้สับสนกันกับ ปืนพระรามหก ที่ซื้อมาในเวลาใกล้เคียงกัน และการไปเก็บเอาปืน ร.ศ. สยามเมาเซอร์ของเก่าสมัย ร.5 ที่ผลิตเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เอามาคว้านรังเพลิงให้ใช้ลูกกระสุนสมัยใหม่ได้ ทำโดยกรมสรรพาวุธ ทบ. กลายมาเป็น ปลย.45/66 บลย.47/66 ก็เลยพากันงงไปกันใหญ่ ถ้าไม่เข้าใจความเป็นมา

เรื่องนี้อาจจะเกี่ยวกับกลยุทธการเก็บความลับทางทหาร และสร้างข้อมูลให้ฝ่ายตรงข้ามสมัยนั้นงุนงงสับสนก็เป็นได้ เพราะมันคาบเกี่ยวมาในยุคที่เป็นการปกครองแบบใหม่ และเปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย” กันแล้ว..

◎ตำนานการสร้างปืนพระรามหกที่ใช้ล้างอาถรรพ์คงกระพันเสือร้ายทั่วแดนสยาม◎ ◎ตำนานการสร้างปืนพระรามหกที่ใช้ล้างอาถรรพ์คงกระพันเสือร้ายทั่วแดนสยาม◎ on 02:15 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.